Skip to main content

สำนักงานแรงงาน จังหวัดอำนาจเจริญ

สภาพทั่วไป

 สภาพทั่วไป

1.   ขนาดและที่ตั้ง

 
      จังหวัดอำนาจเจริญเป็นที่ลุ่ม มีเนินเขาเตี้ย ๆ ทอดยาวไปจรดจังหวัดอุบลราชธานีที่อำเภอชานุมาน  ลักษณะเป็นดินร่วนปนทรายและดินลูกรังบางส่วน  พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกลาง ประมาณ 227  ฟุต  แบ่งการปกครองออกเป็น  7 อำเภอ คือ อำเภอเมือง  อำเภอชานุมาน  อำเภอปทุมราชวงศา  อำเภอพนา  อำเภอเสนางคนิคม อำเภอหัวตะพาน  อำเภอลืออำนาจ
      จังหวัดอำนาจเจริญ เป็นจังหวัดในตอนใต้ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  ตั้งอยู่ระหว่าง เส้นรุ้งที่ 15  องศา  30 ลิปดาเหนือ ถึง 16 องศา  30 ลิปดาเหนือ และเส้นแวงที่ 104  องศา 15  ลิปดาตะวนออก ถึง 105  องศา  15 ลิปดาตะวันออก ห่างจากกรุงเทพมหานครโดยรถยนต์ประมาณ  568  กิโลเมตร แยกออกจากจังหวัดอุบลราชธานี เมื่อปี   พ.ศ.  2536  มีเนื้อที่ทั้งสิ้น  1,975,780  ไร่  หรือ 3,161.248 ตารางกิโลเมตร
      มีอาณาเขตติดต่อ  ดังนี้
      ทิศเหนือ           ติดเขตจังหวัดยโสธร  ที่อำเภอเลิงนกทา  และจังหวัดมุกดาหารที่อำเภอดอนตาล
      ทิศตะวันออก   ติดเขตประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว  ตามแนวฝั่งแม่น้ำโขงด้านอำเภอ
                                 ชานุมานเป็นระยะทาง  38  กิโลเมตรและจังหวัดอุบลราชธานีที่อำเภอเขมราฐ  อำเภอ
                                  กุดข้าวปุ้น และอำเภอตระการพืชผล
      ทิศตะวันตก    ติดเขตจังหวัดยโสธรอำเภอป่าติ้วและอำเภอเลิงนกทา
      ทิศใต้              ติดเขตจังหวัดอุบลราชธานี  ที่อำเภอม่วงสามสิบ
 

2.   ภูมิประเทศ และภูมิอากาศ

      ภูมิประเทศ
      สภาพภูมิประเทศ  โดยทั่วไปเป็นที่ลุ่มมีเนินเขาเตี้ย ๆ ทอดยาวไปจรดจังหวัดอุบลราชธานีที่อำเภอ
ชานุมาน ตั้งอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางเฉลี่ยประมาณ  68  เมตร  (227) ฟุต สภาพดินโดยทั่วไปเป็น
ดินร่วนปนทรายและดินลูกรังบางส่วน  มีแม่น้ำโขงเป็นแนวเขตกั้นจังหวัดอำนาจเจริญกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวที่อำเภอชานุมาน มีลำน้ำใหญ่ ๆ ไหลผ่าน
      ภูมิอากาศ
      ภูมิอากาศโดยทั่วไป  จังหวัดอำนาจเจริญจัดอยู่ในเขตอากาศแบบ  Tropical Savannah คือจะเห็น
ความแตกต่างของฤดูฝนและฤดูแล้งอย่างชัดเจน  มีช่วงกลางวันยาวในฤดูร้อน  และมีอุณหภูมิสูงตลอดปี
ฤดูฝนเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม  ถึงกลางเดือนตุลาคม  ในปี พ.ศ. 2550 มีฝนตก  78  วัน  ปริมาณน้ำฝน
วัดได้  1,782.8  มิลลิเมตร  ฤดูหนาวเริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน  ถึงเดือนมกราคม  ฤดูร้อนเริ่มตั้งแต่เดือน
กุมภาพันธ์  ถึงเมษายน
 

3.   ทรัพยากร และแหล่งน้ำธรรมชาติ

 
      จังหวัดอำนาจเจริญมีลำน้ำที่สำคัญไหลผ่าน  3  สาย  คือ
      1. แม่น้ำโขง  เป็นแม่น้ำขนาดใหญ่เป็นเส้นกั้นแดนระหว่างประเทศไทยกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวโดยถือร่องน้ำลึกเป็นแนวเขตแม่น้ำโขงนับว่ามีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของจังหวัดเป็นอย่างยิ่ง
      2. ลำเซบก  ต้นน้ำเกิดในท้องที่จังหวัดอำนาจเจริญ  อยู่ทางใต้ของจังหวัดไหลผ่านตำบลดงมะยาง  ตำบลอำนาจ  ตำบลเปือย ตำบลไร่ขี  ไปสิ้นสุดที่ตำบลจานลานไหลลงสู่แม่น้ำมูล
      3. ลำเซบาย  ต้นน้ำเกิดในจังหวัดอำนาจเจริญ มีน้ำไหลตลอดทั้งปีเป็นแม่น้ำสายหลักของชุมชนทางด้านตะวันตกของจังหวัดไหลผ่านตำบลน้ำปลีก  ตำบลหัวตะพานสิ้นสุดที่ตำบลสร้างถ่อน้อย ไหลลงสู่ลำเซบกและแม่น้ำมูล
      4. ป่าไม้  จังหวัดอำนาจเจริญมีพื้นที่ประมาณ 1,975,81.25  ไร่  ปัจจุบันทีเนื้อที่ป่าทุกประเภทคงเหลือประมาณร้อยละ 10 ประเภทของป่าไม้ส่วนใหญ่เป็นป่าเต็งรัง  ป่าไม้ชนิดมีค่า ได้แก่ ยาง ประดู่ แดง  เต็ง รัง เป็นต้น  พื้นที่ป่ามีความอุดมสมบูรณ์อยู่ในบริเวณพื้นที่ตอนบนแนวเขตติดต่อกับจังหวัดมุกดาหารและจังหวัดยโสธร  อีกทั้งยังเป็นแหล่งต้นน้ำของพื้นที่ใกล้เคียงจังหวัดอำนาจเจริญ มีพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ  จำนวน  13  แห่ง  พื้นที่ป่าสงวนในท้องที่จังหวัดตามกฎกระทรวง  รวม  890,348  ไร่
 

4.   การคมนาคมขนส่ง

 
      การคมนาคมระหว่างกรุงเทพ ฯ และจังหวัดอำนาจเจริญ  สะดวกสบายทั้งทางรถยนต์  รถไฟ หรืออาจใช้ทางอากาศ  โดยใช้บริการของสนามบินนานาชาติที่จังหวัดอุบลราชธานี
         ทางรถยนต์  ใช้ทางหลวงหมายเลข  1  (ถนนพหลโยธิน)  และทางหลวงหมายเลข  2 (ถนนมิตรภาพ)  จากนั้นใช้ทางหลวงหมายเลข 226  นครราชสีมา – สุรินทร์  และใช้ทางหลวงหมายเลข 214  สุรินทร์ – อำเภอสุวรรณภูมิแล้วแยกขวาไปตามทางหลวงหมายเลข  202  ผ่านจังหวัดยโสธร  และอำเภอป่าติ้ว  ถึงจังหวัดอำนาจเจริญรวมระยะทาง  580  กิโลเมตร  หรือสามารถใช้ทางหลวงหมายเลข  1  และหมายเลข  2  จากนั้นใช้ทางหลวงหมายเลข 226  นครราชสีมา  อุบลราชธานี  ถึงจังหวัดอุบลราชธานี  แล้วใช้ทางหลวงหมายเลข 212  อุบลราชธานี – อำนาจเจริญ  รวมเป็นระยะทาง  704  กิโลเมตร

 5.   ลักษณะชุมชน 

 
      ชุมชนตามเขตการปกครองของจังหวัดอำนาจเจริญแบ่งการปกครองออกเป็น 7 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง อำเภอชานุมาน อำเภอพนา อำเภอปทุมราชวงศา อำเภอเสนางคนิคม อำเภอหัวตะพาน อำเภอลืออำนาจ ประกอบด้วย 56 ตำบล 607 หมู่บ้าน การปกครองส่วนท้องถิ่นประกอบด้วย องค์การบริหารส่วนจังหวัด 1 แห่ง เทศบาลเมือง 1 แห่ง เทศบาลตำบล 20 แห่ง องค์การบริหารส่วนตำบล 42 แห่ง 
      ผังเมืองรวมจังหวัดอำนาจเจริญได้แบ่งชุมชนตามลำดับความสำคัญเป็น 4 ลำดับ  ดังนี้
      1)   ชุมชนศูนย์กลางลำดับที่ 1 มี 1 แห่ง ได้แก่ เทศบาลเมืองอำนาจเจริญ เป็นศูนย์กลางจังหวัดที่มีบทบาทด้านการบริหารการปกครอง พาณิชยกรรม การบริการ การเกษตร การบริการสาธารณสุข ซึ่งสามารถให้บริการแก่ประชาชนภายในจังหวัด
      2)   ชุมชนศูนย์กลางลำดับที่ 2 มี 1 แห่ง ได้แก่ เทศบาลตำบลนาหว้าใหญ่ มีบทบาทด้านการซื้อขายผลผลิตทางการเกษตรและปศุสัตว์
      3)   ชุมชนศูนย์กลางลำดับที่ 3 มี 5 แห่ง ได้แก่ เทศบาลตำบลเสนางคนิคม เทศบาลตำบลอำนาจ เทศบาลตำบลหัวตะพาน เทศบาลตำบลชานุมาน เทศบาลตำบลพนา เป็นศูนย์กลางระดับอำเภอที่มีบทบาททางด้านพาณิชยกรรม และการบริการพื้นฐาน สำหรับชุมชนชานุมานเป็นชุมชนที่มีบทบาทด้านการค้าชายแดน
      4)   ชุมชนศูนย์กลางลำดับที่ 4 มี 2 แห่ง ได้แก่ เทศบาลตำบลน้ำปลีก เทศบาลตำบลนายมเป็นศูนย์กลางระดับท้องถิ่นให้บริการแก่พื้นที่ชุมชนชนบทโดยรอบ
 

6.   สภาพเศรษฐกิจ การเงิน

 
      มูลค่าส่วนใหญ่มาจากภาคเกษตรกรรม การล่าสัตว์และการป่าไม้ มีมูลค่า 3212 คิดเป็นร้อยละ 25.58 ได้แก่ ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง เป็นต้น รองลงมาอยู่นอกภาคเกษตร ได้แก่ ขายส่ง ขายปลีก การซ่อมแซมยานยนต์ จักรยานยนต์ ของใช้ส่วนบุคคล ของใช้ในครัวเรือน
      สินค้าการเกษตรของจังหวัดมีศูนย์กลางอยู่ที่อำเภอเมืองอำนาจเจริญ ซึ่งเป็นศูนย์กลางสินค้าอุปโภค – บริโภค และเป็นแหล่งกระจายสินค้าไปยังแต่ละอำเภอของจังหวัด
      ปศุสัตว์เป็นสาขาหนึ่งที่มีแนวโน้มที่จะสูงขึ้น แต่การลงทุนด้านนี้พบว่ายังมีน้อย สัตว์ที่มีมาได้แก่ ไก่ โค เป็ด สุกร และกระบือ ตามลำดับ ส่วนประมงเป็นการเลี้ยงตามแหล่งน้ำธรรมชาติและบ่อเลี้ยงของสำนักงาน หน่วยงานรัฐแจกจ่ายพันธ์ปลาส่งเสริมการเลี้ยงปลาแก่เกษตรกร นอกจากนี้ ยังมีการประกอบธุรกิจทางการค้าและการบริการ ส่วนภาคอุตสาหกรรม ยังมีสัดส่วนค่อนข้างน้อย
 

7.   สภาพสังคม

 
      ประชากรส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเขตพื้นที่ชุมชน อำเภอเมืองอำนาจเจริญ โครงสร้างประชากรเป็นชาวไทยอีสาน มีไทยเชื้อสายจีน เชื้อสายลาวและเชื้อสายเวียดนามอยู่เล็กน้อย จะพบลักษณะของการพึ่งพาอาศัยกันในชุมชน ส่วนใหญ่นับถือพุทธศาสนา
        เทศกาล งานประเพณี
      ชาวอำนาจเจริญมีวิถีชีวิตอยู่บนพื้นฐานของประเพณี อันเป็นวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวอีสานทั่วไป คือ มีฮีตสิบสอง คองสิบสี่ หมายถึงประเพณีสิบสองเดือนที่ยึดถือปฏิบัติกันมาจนถึงปัจจุบัน คำว่า “ฮีต” มาจากคำว่า “จารีต” ส่วนมากมักจะเป็นงานบุญที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาเป็นหลัก เช่น งานบุญกฐิน งานบุญบั้งไฟ งานบุญข้าวจี่ งานบุญเดือนสิบสอง (ลอยกระทง) งานบุญสรงน้ำ (สงกรานต์) เป็นต้น ส่วน “คองสิบสี่” หมายถึง ครรลองคลองธรรม หรือแบบแผนในการประพฤติ ปฏิบัติสิบสี่ประการ
      ส่วนด้านวัฒนธรรมของชาวอำนาจเจริญที่มีชื่อเสียงก็คือ การทอผ้าไหม ที่มีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง เช่น ผ้าไหมบ้านจานลาน ผ้าไหมบ้านสร้อย ที่อำเภอพนา และผ้าไหมบ้านเปือย ผ้าไหมบ้านหัวดง และผ้าไหมบ้านน้ำท่วม ที่กิ่งอำเภอลืออำนาจ เป็นต้น นอกจากนั้นที่อำเภอชานุมานประชาชนส่วนใหญ่สืบเชื้อสายมาจากชาวภูไทหรือผู้ไทย ที่อพยพมาจากประเทศสารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ชาวภูไทมีความสามารถในการทอผ้าขิดเป็นพิเศษ การให้สีสันและลวดลายของผ้า จะเป็นเอกลักษณ์ของภูไทโดยเฉพาะ และยังมีดนตรีนาฎศิลป์พื้นบ้าน ได้แก่ หมอลำ ที่มีเนื้อหาในการส่งเสริมการปกครองระบบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นพระประมุข
      นอกจากนั้นชาวอำนาจเจริญ ยังมีดำริที่จะฟื้นฟู “ประเพณีลงข่าว” ซึ่งเป็นวิถีชีวิตแบบหนึ่งของชาวจังหวัดอำนาจเจริญในสมัยเก่า ให้เป็นขนบธรรมเนียมประเพณีประจำจังหวัด “การลงข่าว” เป็นการชุมนุมกันของหนุ่มสาว ที่ฝ่ายสาวจะมีกิจกรรมทอผ้า สาวไหม เป็นต้น ขณะเดียวกันพวกหนุ่มๆ ก็จะมาร่วมวงสนุกโดยบรรเลงเพลงพื้นบ้านด้วยเครื่องดนตรีพื้นบ้าน อาทิ แคน พิณ ประกอบกับกิจกรรมทอผ้า และสาวไหม และที่อำเภอชานุมาน ในเดือนพฤศจิกายน ของทุกปี ทางจังหวัดจัดให้มีประเพณีการแข่งเรือยาว ซึ่งมีเรือจากอำเภอดอนตาล จังหวัดมุกดาหาร เรือจากอำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี เรือจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และเรือจากอำเภอชานุมาน จังหวัดอำนาจเจริญ มาร่วมแข่งขัน เพื่อเป็นการเชื่อมสันพันธไมตรี งานแข่งเรือจัดขึ้นที่บริเวณท่าน้ำแม่น้ำโขง หน้าที่ว่าการอำเภอชานุมาน ช่วงเช้าและช่วงบ่ายจะเป็นการแข่งเรือ ส่วนตอนกลางคืนบริเวณที่ว่าการอำเภอจะมีการออกร้านขายสินค้า และมีมหรสพสมโภชตลอดทั้งคืน
 

8.   สถานที่ท่องเที่ยว

      1)   อำเภอเมือง
            1.1)   พุทธอุทยาน และพระมงคลมิ่งเมือง
                   ตั้งอยู่ที่เขาดานพระบาท ตำบลบุ่ง ริมทางหลวงหมายเลข 212 ห่างจากตัวเมืองประมาณ 3 กิโลเมตร บริเวณวัดเป็นหินดานธรรมชาติร่มรื่นด้วยพันธุ์ไม้นานาชนิด ซึ่งได้รับการปรับแต่งให้เป็น “พุทธอุทยาน” ส่วนพระมงคลมิ่งเมือง หรือ พระใหญ่ ปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 11 เมตร ความสูงจากระดับพื้นดินถึงยอดเปลวรัศมี 20 เมตร เป็นพระพุทธรูปที่ได้รับอิทธิพลศิลปะอินเดียเหนือ (ปาละ) ที่แผ่อิทธิพลมายังภาคอีสานของไทย เมื่อพันปีเศษ ออกแบบโดย จิตร บัวบุศย์ ก่อสร้างเมื่อปี   พ.ศ. 2508 ด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กครอบองค์เดิมซึ่งเป็นพระพุทธรูปปูนปั้น แล้วแต่งองค์พระด้านนอกด้วยกระเบื้องโมเสคสีทอง เป็นพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะงดงามประจำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทางด้านหลังของพระมงคลมิ่งเมืองมีพระพุทธรูปลักษณะแปลกอีก 2 องค์ ห่มจีวรเหลือง มีนามว่า “พระละฮาย” หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “พระขี่ล่าย” หมายถึง  ไม่สวย ไม่งาม โดยเรียกตามรูปลักษณ์ขององค์พระพุทธรูปโบราณ พบในหนองน้ำเมื่อปี พ.ศ. 2505 ครั้งที่มีการปรับปรุงบริเวณโดยรอบเพื่อทำฝายกั้นน้ำ เชื่อกันว่าเป็นพระที่ให้โชคลาภ ประชาชนมักเดินทางมาขอพรอยู่เสมอ
           1.2)   อ่างเก็บน้ำพุทธอุทยาน
                             อยู่ฝั่งตรงข้ามกับพระมงคลมิ่งเมือง เป็นแหล่งน้ำที่สำคัญทางด้านเกษตร และประมง พร้อมทั้งยังเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ มีลมพัดเย็นสบาย ริมอ่างเก็บน้ำเป็นที่ตั้งของรีสอร์ทหลายแห่ง
          
          1.3)  วัดถ้ำแสงเพชร หรือวัดศาลาพันห้อง
                                                ตั้งอยู่บนถนนสายอำนาจเจริญ – เขมราฐ ห่างจากตัวเมืองประมาณ 18 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวซ้ายตามทางขึ้นเขาเข้าไปอีกประมาณ 2 กิโลเมตร พื้นที่วัดมีบริเวณกว้างขวาง ประกอบด้วย วิหารเจดีย์ และพระนอนที่ก่อสร้างอย่างสวยงาม ทางด้านทิศเหนือของวิหารมีถ้ำขนาดใหญ่เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะงดงาม นอกจากนี้บริเวณศาลาพันห้องสามารถชมธรรมชาติที่สวยงามโดยรอบแวดล้อมด้วยโขดหินน้อยใหญ่มากมาย เหตุที่ได้ชื่อว่าถ้ำแสงเพชรก็เนื่องมาจากประกายของเกล็ดหินยามเมื่อต้องกับแสงตะวันจะวาววับคล้ายกับแสงเพชร วัดถ้ำแสงเพชร เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมสายพระอาจารย์ชา      สุภัทโท สาขาที่ 5 ของวัดหนองป่าพง มีพระภิกษะนานาชาติมาปฏิบัติธรรมอยู่เป็นประจำ
 
           1.4)   วัดโพธิ์ศิลา
                   ตั้งอยู่ที่บ้านเปือยหัวดง ตำบลเปือย อำเภอลืออำนาจ สิ่งที่น่าสนใจในวัดคือ ใบเสมาสมัยทวาราวดีขนาดใหญ่ สร้างจากหินทรายขาว อายุประมาณ 1000 ปี ราว พ.ศ. 1200 – 1300 ศิลปะขอมแบบไพรกเมง มีลักษณะเรียว ปลายแหลม คล้ายใบหอกป้าน ด้านล่างคอด ส่วนฐานสลักลายดอกบัวบาน ใบเสมาเหนือแนวกลีบบัวสลักแนวแกนเสมาคล้ายรูปสถูปจำลอง หรือปลียอดสถูป ด้านล่างเป็นรูปหม้อน้ำตั้งซ้อนอยู่บนองค์ระฆังคว่ำ ถัดไปเป็นปล้อง มีแนวลดลายบัวคั่นตรงกึ่งกลาง แกนเสมาสลักลายใบไม้ 3 แฉก หงายขึ้นรับลายดอกไม้ครึ่งดอก ในขอบวงโค้ง 3 วงเรียงต่อกัน ส่วนยอดเป็นพุ่มปลายแหลมเหมือนยอดธงมีอุบะห้อย ลวดลายกลีบบัว บนฐานเสมาได้รับอิทธิพลมาจากลายกลีบบัว ฐานพระพุทธรูป หรือธรรมจักรศิลปทวาราวดีทางภาคกลางของประเทศไทย ส่วนลายดอกไม้ครึ่งดอกในวงโค้ง 3 วง ที่เรียงต่อกันเป็นวงเดียวกันนั้นคล้ายคลึงกับลายดอกไม้ครึ่งดอกในวงโค้งที่ปรากฎอยู่บนฐานเทวดา ซึ่งย่อตัวพนมมือหันเข้าหาจุดกึ่งกลางของทับหลัง ซึ่งขุดพบที่บริเวณประตูด้านทิศตะวันออกของปรางค์ทิศเหนือของปราสาทเข้าน้อยสีชมพู อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว
 
      2)   อำเภอหัวตะพาน
           2.1)   ศูนย์จำหน่วยหัตถกรรมบ้านคำพระ
                                             ตั้งอยู่ที่บ้านคำพระ ริมทางหลวงสายอำเภอหัวตะพาน – อำนาจเจริญ ห่างจากที่ว่าการอำเภอหัวตะพานประมาณ 2 กิโลเมตร เป็นศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์ประเภทหัตถกรรมของกลุ่มแม่บ้าน ที่มีสินค้าหลากหลายชนิด โดยเฉพาะผ้าขิต และผลิตภัณฑ์แปรรูปจากผ้าขิต
 
 
 
 
 
           2.2)   ศูนย์ศิลปาชีพบ้านสร้างถ่อ
                   ตั้งอยู่ห่างจากตัวอำเภอประมาณ 5 กิโลเมตร มีถนนเข้าถึง เป็นศูนย์ผลิตและฝึกอบรมงานด้านหัตถกรรมพื้นบ้านหลายประเภท เช่น การทอผ้า และการเจียระไนพลอย เป็นต้น นักท่องเที่ยวสามารถชมวิธีการผลิต และเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ได้ด้วย
 
      3)   อำเภอพนา
           3.1)   วัดพระเทพนิมิต 
                                             ตั้งอยู่บนทางหลวงหมายเลข 2134 ห่างจากตัวอำเภอพนาประมาณ 2 กิโลเมตร พระอุโบสถของวัดมีรูปทรงสถาปัตยกรรมแบบล้านนา มีพระประธานคือ “พระเหลาเทพ – นิมิตร” เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง ประดิษฐานในพระอุโบสถ องค์พระพุทธรูปประทับขัดสามาธิราบ ปางมารวิชัย ลงรักปิดทองงดงาม สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2267 กล่าวกันว่าเป็นพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะงดงามที่สุดในภาคอีสาน ซึ่งจัดอยู่ในพระพุทธรูปศิลปะลาวสกุลช่างเวียงจันทร์ ที่ได้รับอิทธิพลจากพระพุทธรูปศิลปะล้านนา ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 21 – 22 สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นหลังจากระยะเวลาดังกล่าวไปเล็กน้อย เนื่องจากมีอิทธิพลของฝีมือช่างท้องถิ่นปรากฎอยู่มากเป็นต้นว่า เค้าพระพักตร์เปลวรัศมีที่ยืดสูงขึ้นสัดส่วนของพระเพลา และพระบาทซึ่งคล้ายคลึงกับที่ปรากฎอยู่ในกลุ่มพระพุทธรูปไม้ ที่สร้างขึ้นระหว่างปลายพุทธศตวรรษที่ 23 ถึงพุทธศตวรรษที่ 24
          
 
3.2)   วัดไชยาติการาม
                   ตั้งอยู่ที่บ้านโพนเมือง ตำบลไม้กลอน วัดนี้มีพระพุทธรูปสำริด ประทับขัดสมาธิราบปางมารวิชัย สูง 55 เซนติเมตร จัดอยู่ในกลุ่มพระพุทธรูปศิลปะลาวสกุลช่างเวียงจันทร์ เปรียบเทียบได้กับพระพุทธรูปปางมารวิชัยที่ระเบียงหอพระแก้วเมืองเวียงจันทร์ และพระพุทธรูปที่วัดวิชุล เมืองหลวงพระบาง
 
      4)   อำเภอเสนางคนิคม
           ภูสระดอกบัว
                              อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติภูสระดอกบัว เป็นภูเขาที่มีความสูงประมาณ 423 เมตร บนรอยต่อเขต 3 จังหวัด คือ อำเภอเสนางคนิคม อำเภอชานุมาน จังหวัดอำนาจเจริญ อำเภอนิคมคำสร้อย อำเภอดอนตาล จังหวัดมุกดาหาร อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร  ที่ยอดภูสระดอกบัวมีแอ่งหินขนาดกว้างประมาณ 2 – 3 เมตร จำนวน 11 แอ่ง มีน้ำขังตลอดปี มีบันพันธุ์ต่างๆ ขนาดเล็ก ขึ้นอยู่เต็มสระ เมื่อออกดอกจะดูสวยงามมาก ชาวบ้านเล่ากันว่ามีบัวขึ้นอยู่อย่างนี้มานานแล้ว และเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ จึงได้ชื่อว่า “ภูสระดอกบัว”
 
 
 
      5)   อำเภอชานุมาน
           ทิวทัศน์ริมฝั่งโขง
           อำเภอชานุมานมีพื้นที่ติดกับแม่น้ำโขงเป็นระยะทางประมาณ 38 กิโลเมตร ทำให้มีลักษณะทางธรรมชาติ และทัศนียภาพของบรรยากาศสองฟากฝั่งโขงที่งดงามน่าประทับใจ โดยเฉพาะบริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอชานุมาน มีทางเดินเลียบริมฝั่งโขงเป็นระยะทางยาวเหมาะแก่การเดินชมทัศนียภาพ ในช่วงฤดูแล้ง (กุมภาพันธ์ – พฤษภาคม) จะมองเห็นแก่งกลางแม่น้ำโขง เช่น แก่งตางหล่าง ที่หมู่บ้านศรีสมบูรณ์ใกล้กับอำเภอ และแก่งหินขัน
 
 
          
     
     
4016
TOP